บ้านไม้บนโครงสร้างเหล็ก กระท่อมหลังน้อยที่พร้อมรับทุกสภาพอากาศ

Pattareeya Pattareeya
田園風原木屋-實績案例分享, 金城堡股份有限公司 金城堡股份有限公司 Wooden houses Solid Wood Multicolored
Loading admin actions …

เมื่อเอ่ยถึงบ้านไม้ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่น่าจะมีภาพจำเกี่ยวกับบ้านไม้และความคุ้นเคยที่แตกต่างกันไป มาคราวนี้เราจะพาไปชมบ้านไม้หลังหนึ่งในฝั่งไต้หวันกันบ้าง เป็นบ้านไม้หลังเล็กที่ไม่น่าจะมีอะไรพิเศษ แต่หากมองให้ลึกลงไปในแง่โครงบ้านที่ตั้งอยู่บนโครงเหล็กก่อยึดด้วยคอนกรีต ทำให้บ้านหลังน้อยนี้ดูน่าสนใจขึ้นมา โดยบ้านไม้ที่เราจะนำไปชมกันในไอเดียบุคนี้เป็นโปรเจ็กต์ของบริษัทวัสดุก่อสร้าง 金城堡股份有限公司 ที่เชี่ยวชาญเรื่องบ้านไม้นั่นเอง

บ้านหลังที่ว่านี้ตั้งอยู่ที่เมืองไถหนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ร้อนชื้น ทั้งยังมีทรัพยากรไม้มาก ทางเจ้าของบ้านจึกเลือกสร้างบ้านด้วยไม้ แต่เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศในพื้นที่ ส่วนที่เป็นโครงสร้างฐานรากทำจากโครงเหล็กจึงถูกเสริมขึ้นมาเพื่อยืดอายุการใช้งานบ้าน ป้องกันความชื้นขึ้นมาจากส่วนพื้นดินนั่นเอง

เริ่มต้นสร้างฐานราก

บ้านที่จะทำขึ้นนี้เป็นบ้านไม้สไตล์กระท่อม ขนาด 4.8 x 5.4 เมตร ตัวบ้านสูงราว 4 เมตร แต่ทั้งนี้ก่อนจะไปสู่ส่วนตัวบ้าน ทางทีมช่างต้องจัดการในส่วนของฐานรากให้มั่นคงก่อน

ในภาพที่เห็นนี้คือขั้นตอนการทำโครงเหล็กที่จะเป็นฐานตั้งบ้าน โดยนอกจากโครงเหล็กจะช่วยป้องกันไม่ให้ตัวบ้านไม้ต้องสัมผัสกับดินโดยตรง ลดความเสี่ยงในการเกิดความชื้น ปลวก และเชื้อราแล้ว ยังช่วยในเรื่องการระบายอากาศ เพราะทำเป็นฐานใต้ถุนยกสูงจากพื้นราวครึ่งเมตร ทำให้ลมสามารถไหลผ่านได้สะดวก

ยึดโครงเหล็ก ทำฐานรากให้แน่น

ไต้หวันเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอยู่ประปราย โครงสร้างบ้านที่จะสามารถรับมือกับการสั่นสะเทือนมากๆ ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากวางโครงสร้างฐานเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการลงคอนกรีตยึดโครงไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อความมั่นคง

คอนกรีตเสริมเหล็ก

เพื่อความมั่นคงแข็งแรง กันคอนกรีตแตก ทางช่างจะผูกเหล็กแล้วปูก่อนเทปูน ซึ่งในปัจจุบันนี้มีเหล็กตาราง wire mesh แบบที่ทำสำเร็จมาแล้วขายเป็นม้วนๆ ทำให้ทำงานได้ง่ายและประหยัดเวลาขึ้นด้วย

สร้างตัวบ้านที่เป็นไม้

หลังจากส่วนโครงสร้างฐานบ้านเสร็จเรียบร้อย ทั้งยังบ่มจนแห้ง แข็งแรงดี ก็เป็นช่วงที่จะลงมือก่อสร้างในส่วนตัวบ้านที่เป็นไม้ต่อไป เริ่มต้นจากส่วนที่เป็นพื้นบ้าน มีการวางตงไว้รองรับส่วนที่จะปูพื้น และขึ้นเสา ขึ้นโครง เพื่อจะทำให้บ้านเป็นรูปเป็นร่างต่อไป

รายละเอียดรอบนอก

หลังจากตัวบ้านเสร็จเรียบร้อย ติดตั้งส่วนที่เป็นประตู หน้าต่าง และช่องลมต่างๆ ช่างไม้ก็จะมาเก็บรายละเอียดในส่วนพื้นและโครงด้านนอกต่อ ไม่ว่าจะเป็น เฉลียงหน้าบ้าน โครงหลังคาที่จะต่อเติมปิดเหนือเฉลียง รวมถึงราวกันตกที่จะต้องทำกั้นลานด้านนอกนี้ไว้อีกต่อหนึ่งด้วย

อีกส่วนหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือบันไดทางขึ้นบ้าน แม้โครงสร้างที่เป็นฐานเหล็กจะยกไม่สูงมาก แต่ก็ควรทำไว้ให้ครบถ้วน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ทั้งยังเสริมความสวยงามให้ตัวบ้านอีกด้วย

เพิ่มการปกป้องให้หลังคา

ปิดท้ายด้วยการเสริมความแข็งแรงให้หลังคาด้วยการลงกระเบื้องทับบนหลังคาไม้ ช่วยปกป้องตัวบ้านจากแดดและฝน เพราะแม้ไม้จะผ่านกระบวนการยืดอายุไม้ทั้งการอาบน้ำยา การอบ และทาน้ำยาป้องกันไม้มาแล้ว แต่หากมีแผ่นกระเบื้องมาช่วยลดการปะทะตรงนี้ได้ก็จะยิ่งทำให้บ้านหลังนี้สวยคงทน และอยู่ให้ใช้งานไปได้อีกนาน

ทาสีเคลือบให้สวยงาม

ขั้นตอนสุดท้ายคือการทาสีเคลือบ ที่จะทำให้บ้านสวยงามและช่วยยืดอายุไม้ให้อยู่กับเราไปยาวๆ แค่นี้บ้านไม้บนพื้นโครงเหล็กก็เสร็จพร้อมอยู่อาศัย เป็นบ้านหลังน้อยที่น่ารักและน่าอยู่ไปอีกแบบหนึ่ง

(สนใจดูเพิ่มเติมเรื่องการตกแต่งภายในบ้านที่มีขนาดกะทัดรัด แวะไปอ่านได้ที่ไอเดียบุคนี้ 26 ไอเดียแต่งห้องครัวขนาดเล็ก สำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อย และ 15 แบบห้องอเนกประสงค์ขนาดเล็กในบ้านที่คุณจะต้องอยากขลุกตัวอยู่ทั้งวัน)

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine