8 ไอเดียตกแต่งบ้านรับสังคมผู้สูงอายุของไทยสำหรับบ้านทุกครัวเรือน

Anuwat Anuwat
งานออกแบบบ้านชั้นเดียว รหัส MD1-001 , K.O.R. Design&Architecture K.O.R. Design&Architecture Single family home
Loading admin actions …

ประเทศไทยมีประชากรคงที่ประมาณ 65 ล้านคน โดยกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวเมื่อปี พ.ศ.2548 สำหรับปัจจุบันในภุมิภาคอาเซียนประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากสิงค์โปรที่มีอัตราการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุ และในอนาคตประมาณปี พ.ศ.2574 เราจะก้าวเข้าสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน ที่สำคัญในปี พ.ศ.2579 ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ คือ ผู้สูงอายุ

การคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 พร้อมกับก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ.2574 และนัยยะสำคัญคือปี พ.ศ.2579 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ และก้าวสู่การเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนสำหรับสังคมผู้สูงอายุ

จากการที่ประเทศก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแล้วกว่า 1 ทศวรรษ 1 โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องปรับตัว สำหรับทุกครอบครัว คือ การออกแบบและตกแต่งบ้านให้สอดรับกับผู้สูงวัยภายในบ้าน ซึ่งแนวคิดหลักสำหรับการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุนั้น จะต้องมุ่งเน้นความปลอดภัย มุ่งสร้างความสะดวกสบาย มุ่งใช้สภาพแวดล้อมที่ดีและมุ่งหมายในการดูแลรักษาที่ง่าย โดยในวันนี้ Homify ขออาสานำพาทุกท่านเยี่ยมชมกับไอเดียตกแต่งบ้านอย่างเรียบง่ายเพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับผู้อยู่อาศัยสูงวัย และเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้สำหรับครัวเรือนต่างๆที่มีผู้สูงอายุภายในบ้าน

1.ราวจับเมื่อต้องขึ้นที่สูง

การตกแต่งภายในสำหรับผู้สูงวัยสิ่งแรกที่ต้องคำนึง คือ ความปลอดภัย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจะต้องเคลื่อนย้ายอย่างสะดวกสบายหรือมีหลักในการเหนียวรั้งหรือค้ำยัน อาทิ ราวจับ โดยนอกจากมุมบันไดสำหรับบ้านสองชั้นที่ต้องมีราวบันไดที่แน่นหนาแล้ว ภายในห้องน้ำก็ควรติดตั้งราวจับ เช่นเดียวกันกับผนังตามมุมห้องต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุภายในบ้านสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปกติสุขและคล่องตัวแม้อยู่บ้านคนเดียว พร้อมกันนี้ยังสามารถลดความชันของทางลาดไม่เกิน 1 : 12 และถ้าหากมีงบประมาณสามารถติดตั้งลิฟท์เพื่อใช้สอยสำหรับภายในบ้าน

2.โปร่ง โล่ง สบาย

สำหรับผู้สูงอายุ การตกแต่งภายในด้วยความโปร่ง โล่ง สบาย ไม่ว่าจะเป็นการยกเพดานสูง การติดตั้งบานประตูหรือหน้าต่างด้วยบานกระจกใส รวมทั้งสร้างความปลอดโปร่งด้วยการเปิดรับอากาศภายนอกและบริหารบรรยากาศภายในให้สดชื่นอยู่ตลอดเวลา ก็จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยกลุ่มผู้สูงวัยมีความผ่อนคลาย ไม่เครียด ที่สำคัญเมื่อบ้านปลอดโปร่งสิ่งที่ตามมาคือความส่องสว่าง โดยส่วนนี้ช่วยเสริมในความปลอดภัยได้อีกด้วย

3.เชื่อมโยงแต่ละมุมห้องอย่างไร้รอยต่อ

บ้านสำหรับผู้สูงอายุควรเลือกใช้พื้นบ้านที่เหมาะสมและปลอดภัย อาทิ การตกแต่งวัสดุปูพื้นที่กันลื้นอย่างกระเบื้องยาง หากเป็นงานไม้ก็ต้องไม่ขัดพื้นจนมันวาวเพื่อเพิ่มความฝืดเอาไว้ ไม่เพียงเท่านั้นการเสริมในเรื่องความสะดวกสบายต่อการเคลื่อนที่ไปยังมุมอื่นได้อย่างเหมาะสม เช่น การไม่กั้นผนังแต่ละมุมห้องแต่ใช้กลไกบานเลื่อนมาปรับใช้แทน จะทำให้ผู้อยู่อาศัยดูผ่อนคลาย สามารถนำพาตัวเองไปพักผ่อนในมุมต่างๆได้อย่างไม่น่าเบื่อ

4.โถงทางเดิน

ทางเดินนับเป็นอีกจุดที่บ้านสำหรับผู้สูงวัยต้องออกแบบใหม่หรือปรับพื้นทางเดินให้เป็นทางที่เรียบ เกือบทั้งหมด เพราะพื้นเรียบนั้นนอกจากดูแลรักษาง่าย ยังเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็นได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังสามารถออกมาพื้นที่ด้านนอกได้อย่างอิสระ ส่วนแบบของพื้นที่ใช้ควรช่องทางเดินที่กว้างพอสมควรและหากเป็นไปได้ควรเชื่อมโยงกับมุมห้องต่างๆได้อย่างกลมกลืน อย่างเช่นไอเดียบุคนี้ที่สามารถออกมานั่งพักผ่อนด้านนอกได้อย่างเป็นส่วนตัว

5.ขยายขนาดของประตู

การขยายโครงสร้างหรือปรับโฉมภายในบ้านบางจุดก็ช่วยเสริมให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างคล่องตัว มากยิ่งขึ้น เช่น การขยายขนาดความกว้างของประตูที่จากเดิมอาจจะ 0.8 เมตร ขยายเป็น 1.5 เมตร เป็นต้น รวมทั้งการเปลี่ยนมาใช้ลูกบิดประตูแบบคันโยกแทนการใช้ลูกบิดแบบกลมเพราะต้องใช้แรงมากในการเปิด โดยประโยชน์ของการขยายประตูนั้นไม่ได้เพิ่มแต่ความคล่องตัว แต่ยังเพิ่มในการเปิดรับบรรยากาศจากภายนอกเข้ามาเสริมให้ภายในดูปลอดโปร่งได้อีกด้วย

6.การเข้าถึงที่สะดวกสบาย

อีกหนึ่งนัยยะที่ห้ามมองข้ามสำหรับการตกแต่งบ้านเพื่อผู้สูงวัย คือ ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยจะต้องไม่จัดวางในพื้นที่อับหรือสูง อาทิ ชุดตู้ชั้นเก็บของจัดวางหรือบิวท์อินชิดผนังไว้ด้านล่างหรือราบกับพื้นโต๊ะ ขณะที่ของเครื่องใช้ก็ต้องจัดวางในแบบที่หยิบใช้ได้เลย ไม่ซับซ้อน ด้านการใช้สวิทซ์ไฟก็เช่นกันจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสายตาและแขนของผู้สูงอายุ นอกจากความคล่องตัวยังทำให้การอยู่อาศัยเกิดความปลอดภัย

7.โทนสีและมุมชมวิวทิวทัศน์ที่กว้าง

สภาพแวดล้อมที่ดี ถือเป็นการสร้างกายภาพที่ดีให้กับผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้โทนสีในเฉดที่สว่างอย่างสีขาว หรือกลุ่มสีที่ให้ความสดใส อาทิ เหลือง ฟ้า หรือจะใช้โทนสีที่แสดงออกถึงความเรียบง่ายและรู้สึกผ่อนคลายอย่างสีขาว เทา อย่างไรก็ดีนอกจากโทนสีการเสริมมุมมองหรือจุดชมวิวที่กว้างจากบริเวณห้องนอนก็ทำให้การพักผ่อนของผู้สูงวัยเกิดความเพลิดเพลินได้เช่นกัน  ฉะนั้นอย่ามองข้ามสิ่งเล็กน้อยๆ อย่างโทนสีและวัสดุตกแต่ง

8.สวนไม้หรือพื้นที่สีเขียว

อีกหนึ่งเทคนิคที่สร้างกายภาพที่ดีสำหรับผู้สูงอายุในการอยู่อาศัย คือ การตกแต่งพื้นที่สีเขียวในมุมต่างๆ ผ่านการเลือกใช้ กระถางแบบแขวน กระถางแบบตั้ง ชุดแขวนกระถางต้นไม้ หรือแจกันมาเสริมตามมุมห้องทุกห้องก็สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น มีโอโซนที่บริสุทธ์ ได้อารมณ์ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไม่เพียงเท่านั้นสีเขียวยังลดความแข็งกระด้างของบ้านได้อย่างนุ่มลึก ที่สำคัญการสร้างพื้นที่สีเขียวไว้ภายในบ้านนั้นยังทำให้ผู้สูงอายุและตัวบ้านเกิดความปลอดโปร่ง สดใส ขณะเดียวกันหากมีพื้นที่ว่างส่วนนอกก็สามารถจัดเป็นสวนไม้พร้อมที่นั่งไว้สำหรับพักผ่อนเหมือนกับไอเดียบุคนี้ได้เลย

การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดรับกับเทรนด์หรือสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากแสดงออกถึงความเตรียมพร้อมที่ดี ยังแสดงออกถึงความร่วมมือที่ดีของภาคประชาชนในการเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับสังคมผู้สูงวัยของประเทศ

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine